interview

สัมพาษณ์

            การเลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย และเหมาะสมกับรูปเท้า เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก ทำให้ ‘อภิกษณา เตชะวีรภัทร’ ริเริ่มก่อตั้งแบรนด์ไลฟ์สไตล์สุขภาพ ‘GEMIO’         ด้วยความเชื่อนี้  GEMIO เป็นแบรนด์ที่ต้องการสร้างสรรค์รองเท้าที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกทั้งมีดีไซน์ร่วมสมัยควบคู่ไปกับการช่วยเหลือชุมชนจากการใช้ผ้าทอมือของชาวบ้าน         ในท้องถิ่นและยางพาราของชาวสวนยาง

             GEMIO มีที่มาจากคำว่า GEMINI หมายถึง ราศีเมถุน หรือคนคู่ ซึ่งเธอมองว่ารองเท้าก็ต้องใส่เป็นคู่เหมือนกัน อีกทั้งยังออกแบบให้ ‘หมีขั้วโลก‘ เป็นสัญลักษณ์ของความใส่ใจ           และสื่อความหมายแทนความทนทาน แข็งแรง ที่สามารถเกาะบนพื้นน้ำแข็งได้ ไม่ลื่น เช่นเดียวกับพื้นรองเท้า ทั้งนี้ GEMIO มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติมายาวนาน       กว่า 50 ปี ทำให้มั่นใจในการออกแบบ และการผลิตรองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับ โดยใช้กระบวนการที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ อย่าง ‘ยาง Eco2 surface’ ซึ่งเป็นวัสดุที่ทาง         แบรนด์คิดค้นขึ้นมาเอง

            ยาง ECO 2 Surface หมายถึง การนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บรองเท้าผสมกับยางพารา แล้วขึ้นรูปใหม่เป็น ‘พื้นรองเท้า GEMIO’ ที่มีความทนทาน มีพื้นผิวกันลื่น ไม่สึกง่าย   ทำให้มีอายุการใช้งานนานกว่ารองเท้าทั่วไป แถมยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุหรือนำมาต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้มีการใช้ยาง ECO2 Surface กันมากขึ้นและร่วมเป็น       ส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

          นอกเหนือจากพื้นรองเท้าที่โดดเด่นแล้วเธอยังเลือกใช้ผ้าทอพื้นเมืองจากกลุ่มชาวบ้านรวมไปถึงการเลือกผ้าพื้นเมืองตามท้องถิ่นต่างๆ หรือช่างฝีมือการทอผ้าพื้นเมืองท้องถิ่น               โดยเลือกเนื้อผ้าที่มีความคงทนและลวดลายการทอที่เป็นเอกลักษณ์สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ทำให้ได้ทั้งความสวยงาม รวมถึงเป็นการสนับสนุนงานหัตถกรรมช่างฝีมือท้องถิ่น ช่วยเสริม   สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน พร้อมกับสานต่อรูปแบบงานทอให้คงอยู่สืบทอดต่อไป

          ไม่เพียงเท่านั้น เธอตอกย้ำจุดยืนของแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเลือกใช้ผ้าย้อมสีธรรมชาติ และกรรมวิธีการอบรองเท้าแบบ Vulcanization         เพื่อให้เนื้อผ้าด้านบนเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับพื้นยางรองเท้า และขอบยางรอบพื้นรองเท้า จุดเด่นรองเท้าแบรนด์ GEMIO คือ มากกว่าความเก๋ที่ดูดี มีสไตล์ ไม่เหมือนใคร ใส่ใจใน               สิ่งแวดล้อม คือความสวมใส่สบายเพื่อสุขภาพเท้าที่ดี ตอบโจทย์กลุ่มคนทุกวัยที่มีไลฟ์สไตล์เรียบง่าย ชอบออกเดินทางท่องเที่ยว ชื่นชอบการแต่งตัว รวมถึงห่วงใยสุขภาพ และรักษ์สิ่ง     แวดล้อม

          เนื่องจากอภิกษณาใส่ใจในทุกสรีระเท้าของทุกคน เธอจึงทำการพูดคุย สังเกตขนาดเท้าของกลุ่มลูกค้า อีกทั้งศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปเท้า โดยคำนึงการออกแบบรองเท้าให้       เข้ากับทุกทรงเท้าที่หลากหลาย โดยเฉพาะเท้าคนเอเชีย เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในอนาคตทางแบรนด์ตั้งเป้าจะมีทั้งรองเท้ากระเป๋าและเครื่องประดับอื่นๆ         ที่ทำมาจากยางและผ้าเพื่อตอบโจทย์ความเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์รวมถึงเป็นแบรนด์ไทยที่เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ

       อย่างไรก็ดี GEMIO หวังสร้างเอกลักษณ์ทางกระบวนการผลิต นวัตกรรมด้านวัสดุของทางแบรนด์ การใช้ผ้าทอพื้นเมืองของไทย กรรมวิธีการอบรองเท้าให้คงรูปแบบ Vulcanization     เพื่อสร้างคุณค่า และมูลค่าให้กับแบรนด์มากยิ่งขึ้นต่อไป

www.brandthink.me.

by Brandthink 20 Jun. 2021

อ้างอิง

https://www.brandthink.me/content/gemiohealthyshoes

โซนผู้สูงอายุ 60+ มีรองเท้าผ้าทอพื้นยางพารา ECO ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ แบรนด์คนไทย “GEMIO” เหมาะสำหรับนักเดินทางโดยเฉพาะผู้สูงวัย ด้วยโรงงานผลิตที่มีประสบการณ์ ผลิตรองเท้าผ้าใบมานานกว่า 40 ปี จึงคิดค้นนวัตกรรมยางพารา ECO โดยนำเศษผ้าที่เหลือจากกระบวนการตัดเย็บ มาเพิ่มมูลค่าผสมยางพารา สร้างลวดลายบนพื้นผิว เพิ่มคุณสมบัติยางพาราทนทาน ไม่ลื่น และทนต่อการสึกหรอได้ดี อีกทั้งส่งเสริมผ้าทอย้อมสีธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย เพื่อให้มีความเป็นแฟชั่นผ้าไทย สวยงาม ใส่สบาย ในชีวิตประจำวัน

อ้างอิง

https://www.ryt9.com/s/prg/2974617

รองเท้ากระเป๋าผ้าทอไทย

ทุกวันนี้งานออกแบบเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เครื่องมือส่งเสริมการตลาดหรือเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรอีกต่อไป แต่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในการพัฒนาทุกชิ้นผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับ Gemio Shoes แบรนด์รองเท้าที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แนว Eco-Friendly ตั้งแต่การคัดเลือกวัสดุ รูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงกระบวนการผลิต เพื่อให้รองเท้าหนึ่งคู่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทุกองศา วันนี้ทีมงาน TCDCCONNECT ได้รับโอกาสดีๆพูดคุยกับคุณอภิกษณา เตชะวีรภัทร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gemio Shoes

ต่อยอดธุรกิจครอบครัว

อภิกษณาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนต่อปริญญาโทด้านการจัดการสำหรับเป็นผู้ประกอบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เช่นเดียวกับคนทั่วไป เธอก้าวเข้าสู่ระบบการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนที่ MEP (Mitsubishi Engineering-Plastics) โดยเลือกทำงานด้านพลาสติก แม้ว่าเธอจะมีความสุขกับการทำงาน แต่ในใจลึกๆ เธอยังอยากกลับไปสานฝันกับธุรกิจรองเท้า ธุรกิจของครอบครัวที่เลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่เยาว์วัย ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจก้าวเดินออกจากองค์กรที่เธอทำงานมากว่า 10 ปีสู่การนับหนึ่งใหม่กับธุรกิจรองเท้าภายใต้แบรนด์ Gemio Shoes โดยมุ่งมั่นที่จะพลิกแนวคิดการผลิตรองเท้าของครอบครัวพร้อมสร้างแบรนด์ใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายหลัก

หาจุดแข็งสร้างแบรนด์ให้แกร่ง

อภิกษณาเริ่มต้นการทำงานโดยได้รับคำปรึกษาจากพี่ชายที่ดูแลธุรกิจครอบครัวมาโดยตลอด เดิมทีธุรกิจการผลิตรองเท้าของครอบครัวเน้นปริมาณการผลิตจำนวนมาก ขายเยอะๆ ราคาถูก โดยมีพ่อค้าคนกลางรับช่วงกระจายสินค้าไปตามร้านค้าปลีกทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่เมื่อธุรกิจมีการแข่งขันสูง รูปแบบการกระจายผลิตภัณฑ์ผ่านพ่อค้าคนกลางก็เริ่มลดน้อยถอยลง เธอคิดว่า ถ้าเดินเครื่องตามกรอบการทำงานแบบเดิมๆก็อาจส่งผลให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้เธอจึงเริ่มต้นด้วยการศึกษากระบวนการทำงานอย่างละเอียดทั้งในเรื่องของการออกแบบ การนำวัสดุมาใช้ รวมไปถึงกระบวนการผลิตเพื่อค้นหาเอกลักษณ์ที่แตกต่าง ในที่สุดเธอค้นพบว่า กระบวนการทำรองเท้าแบบแฮนเด์เมด ตั้งแต่การทำพื้นรองเท้ายาง การตัดเย็บ การเลือกใช้วัสดุ เป็นจุดแข็งที่โดดเด่นที่ผู้ผลิตรองเท้าไม่ค่อยมี สามารถนำมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้

นวัตกรรมอบรองเท้า

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ Gemio Shoes คือกระบวนการอบรองเท้าที่อภิกษณาให้คำจำกัดความว่าเหมือนการอบขนมในเตาอบ กระบวนการนี้เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถเสริมเสน่ห์สร้างลวดลายพร้อมเพิ่มคุณสมบัติให้กับรองเท้าก่อนนำไปใส่แม่พิมพ์ และเข้าเตาอบขึ้นรูปรองเท้าในขั้นตอนสุดท้าย คล้ายๆกับการทำขนมที่เราสามารถใส่ลูกเกด เพิ่มอัลมอนด์ โรยช็อคโกแลตชิพ ฯลฯ บนคุกกี้ก่อนเข้าเตาอบเช่นกัน

อภิกษณาคิดค้นนวัตกรรมการทำพื้นรองเท้ายางพารา Eco (Eco 2 Surfaces Rubber) โดยนำเศษผ้าที่หลงเหลือจากขั้นตอนการตัดเย็บรองเท้ามานวดผสมในยางพารา (แทนการใช้ยางพารา 100% เหมือนที่เคยทำมา) เธอใช้เทคโนโลยีการคงรูปยาง Vulcanization ที่ีอาศัยความร้อนกระตุ้นสารเคมีที่ผสมอยู่ในยางคอมพาวด์แล้ว เกิดปฏิกิริยาเชื่อมโยงโมเลกุลให้เป็นโครงสร้างตาข่ายสามมิติ ทำให้ยางคอมพาวด์ หรือยางดิบที่ไม่สามารถใช้งานได้ แปรสภาพเป็นยางคงรูป หรือยางสุก มีสมบัติเสถียรไม่เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ กลายเป็นเสน่ห์ของรองเท้าผ้าใบที่สร้างพื้นผิวที่แตกต่าง ส่วนผสมของเศษผ้าบนพื้นยางนอกจากจะทำให้เกิดลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังเสริมให้พื้นรองเท้ายางมีความทนทาน ไม่สึก ไม่ลื่นง่าย เรียกได้ว่าหนึ่งคู่รองเท้ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิมมาก ทั้งนี้นวัตกรรมการทำพื้นรองเท้ายาง Eco 2 Surfaces Rubber ได้รับการอนุมัติิให้จัดแสดงในห้อง Material Connexion พร้อมจัดแสดงตัวอย่างที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

เสริมเอกลักษณ์ด้วยผ้าทอพื้นเมือง

นอกจากพื้นรองเท้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแล้ว อภิกษณาเลือกใช้ผ้าทอพื้นเมืองจากกลุ่มชาวบ้านที่ทำงานร่วมกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) รวมไปถึงการเลือกผ้าพื้นเมืองตามท้องถิ่นต่างๆที่ผลิตโดยครูช่าง หรือช่างฝีมือการทอผ้าพื้นเมืองท้องถิ่น โดยเลือกเนื้อผ้าที่มีความคงทน และลวดลายการทอที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค 

อภิกษณา เลือกใช้ผ้าย้อมสีธรรมชาติเท่านั้นเพื่อตอกย้ำจุดยืนของแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยกรรมวิธีการอบรองเท้าแบบ Vulcanization ในกระบวนการผลิตทำให้เนื้อผ้าด้านบนเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับพื้นยางรองเท้า และขอบยางรอบพื้นรองเท้า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า รองเท้า Gemio Shoes มีความทนทานมากกว่ารองเท้าที่เราพบเห็นในปัจจุบัน แตกต่างจากรองเท้าทั่วไป เช่น รองเท้าส้นสูงที่ส่วนใหญ่ใช้พื้นพลาสติก PVC หรือพื้นไม้ จากนั้นใช้กาวยางเชื่อมผิวผ้าหรือหนังด้านบน ทำให้รองเท้าพังง่าย ส้นหลุดบ่อย หรือรองเท้าผ้าใบที่ใช้กรรมวิธีการฉีดยางเข้าแม่พิมพ์ ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างพื้นยางกับผิวผ้าใบด้านบนไม่แน่นหนาเหมือนกรรมวิธี Vulcanization ของ Gemio Shoes การนำผ้าทอจากท้องถิ่นมาใช้นอกจากจะช่วยทำให้รองเท้ามีความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนงานหัตถกรรมช่างฝีมือท้องถิ่น เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน พร้อมสานต่อรูปแบบงานทอให้คงอยู่สืบทอดต่อไปด้วย

รูปแบบผลิตภัณฑ์ และเป้าหมายในอนาคต

เนื่องจาก Gemio Shoes ไม่ได้ตั้งเป้าที่จะเป็นรองเท้าแฟชั่นแบบสุดโต่ง อีกทั้งยังเป็นช่วงเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์พัฒนาผลิตภัณฑ์ ทีมงานจึงไม่ได้ออกแบบรองเท้าตามซีซั่นเหมือนเช่นเสื้อผ้า แต่วางแผนที่จะคลอดลวดลายใหม่ๆประมาณ 3 ครั้งต่อปี ปัจจุบัน Gemio Shoes มีรองเท้า 3 รูปแบบ ได้แก่ รองเท้าผ้าทอมือทรงผู้หญิง รองเท้าผ้าใบ และรองเท้าสวมใส่สบายแบบ Slip-on ที่ไม่มีชิ้นผ้าบริเวณด้านหลัง พร้อมตอกย้ำให้เป็นแบรนด์รองเท้าเพื่อสุขภาพด้วย อภิกษณามุ่งมั่นที่จะสร้างแบรนด์ Gemio Shoes ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลภายในระยะเวลา 5 ปี โดยดึงเอาเอกลักษณ์ทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต นวัตกรรมด้านวัสดุ การใช้ผ้าทอพื้นเมืองของไทย และการอบรองเท้าแบบ Vulcanization มาสร้าง “คุณค่า” และ “มูลค่า” ให้กับแบรนด์

ผสมผสานตลาดออฟไลน์ และออนไลน์

ในส่วนของช่องทางการขาย ทีมงานเลือกใช้การตลาดแบบออฟไลน์ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสัมผัสของจริง อยากทดลองสวมใส่รองเท้าก่อนการซื้อ ควบคู่ไปกับการทำตลาดบนโลกออนไลน์สำหรับลูกค้าที่นิยมการซื้อผ่านตลาดออนไลน์ ปัจจุบันแบรนด์ Gemio Shoes มีวางขายในบริเวณพื้นที่ชั้น 4 Ecotopia, Siam Discovery และออกบูธขายสินค้าตามงานอีเว้นท์ที่สอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์ เช่น งาน Thai Fabric and Crafts Fair 2018 ที่รวบรวมสุดยอดสินค้าภูมิปัญญาไทยจากผู้ผลิตโดยตรง งาน Style 2018 ในบูธ 60+ ที่รวบรวมงานสิ่งทอเพื่อผู้สูงอายุ หรืองาน Craft Bangkok 2018 ที่เน้นผลิตภัณฑ์จากงานหัตถกรรมช่างฝีมือ เป็นต้น อภิกษณา กล่าวว่าข้อดีของการขายผ่านการออกบูธ ทำให้เธอมีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง สามารถอธิบายแนวคิดของผลิตภัณฑ์ พร้อมได้รับคำแนะนำดีๆจากลูกค้า ในส่วนของตลาดออนไลน์ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผ่านช่องทางเว็บไซท์ และเฟสบุ๊ค กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาส่วนใหญ่จะนิยมซื้อของออนไลน์อยู่แล้ว รวมไปถึงลูกค้าเดิมที่ต้องการซื้อซ้ำเพราะมั่นใจในคุณภาพโดยไม่ต้องสัมผัสรองเท้าจริงก่อนการตัดสินใจอีกครั้ง

ก่อนจากกัน อภิกษณา ทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในการทำงานคือ การได้สานต่อธุรกิจครอบครัวโดยมุ่งหวังให้ธุรกิจมีความยั่งยืน โดยดึงเอาศักยภาพสูงสุดของกระบวนการทำงานมาสร้างเอกลักษณ์ผ่านนวัตกรรมใหม่ๆที่ให้ความสำคัญกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

ข้อคิดประเด็นเด็ด

– การศึกษากระบวนการผลิตขององค์กรอย่างละเอียด ช่วยให้เราเห็นช่องทางในการสร้างนวัตกรรมจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว
– การสร้างความแตกต่างไม่ใช่การทำสินค้าให้สวยงามเพียงมุมมองเดียว แต่คือการนำ วัสดุ กระบวนการผลิต รูปแบบการขาย ฯลฯ มาสร้าง “คุณค่า” ให้เกิดขึ้นบนผลิตภัณฑ์
– การพัฒนาสินค้าแนว Eco Product ไม่ได้ถูกตีกรอบไว้เพียงแค่สินค้าที่ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้เท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการนำเศษวัสดุที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะ การคำนึงถึงอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ที่ทนทาน ฯลฯ
– การตลาดบนโลกออนไลน์สำหรับรองเท้า ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อซ้ำเพราะลูกค้ามั่นใจในคุณภาพอยู่แล้ว ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีพื้นที่วางขายแบบออฟไลน์เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสสินค้าด้วย
– การออกบูธตามงานอีเว้นท์ จำเป็นต้องเลือกรูปแบบของงานที่สอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์ เพราะนอกจากจะช่วยเสริสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์แล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้เราพบกับกลุ่มเป้าหมายของเราด้วย

อ้างอิง

https://www.tcdcconnect.com/content/detail/31798/?m=TCDC&t=know_who

Main Idea

  • ต้องยอมรับความจริงว่า หนึ่งในต้นเหตุที่สร้างปัญหาขยะล้นโลก มาจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่หลายๆ ครั้งมักถูกมองว่าเป็นธุรกิจผลิตขยะตัวดี แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความพยายามของหลายๆ แบรนด์ ที่คิดนำเอาขยะมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ ซึ่งยังคงคุณค่าและสวยงามในแบบของตัวเองไว้ได้อย่างลงตัว
  • เช่นเดียว GEMIO แบรนด์รองเท้าของคนยุคใหม่ ที่ได้มีการนำเอาขยะจากโรงงานของตัวเองอย่างเศษผ้าเหลือทิ้งมาผสมกับยางพาราเพื่อนำไปขึ้นรูปเป็นพื้นรองเท้าคุณสมบัติพิเศษ จนออกมาเป็น GEMIO รองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดูดีมีสไตล์แถมยังดีต่อโลกอีกด้วย

     ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมักจะได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบความเป็น ECO อยู่เสมอ ยิ่งในปัจจุบันผู้คนให้ความใส่ใจกับปัญหาภาวะโลกร้อน และวิกฤตขยะล้นโลกมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลให้สินค้าเหล่านี้ถูกจับตามอง เพราะธุรกิจที่ดีต่อโลกนั้นไม่เพียงทำให้ขยะลดลงหรือมลภาวะหายไปเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริงอีกด้วย          

 “GEMIO” เป็นหนึ่งในแบรนด์รองเท้าไทยที่เล็งเห็นถึงปัญหาขยะ และพยายามแก้ไขในแบบของตัวเอง โดยเริ่มจากการสร้างแบรนด์ให้เป็นกลายเป็นตัวอย่างของธุรกิจรักษ์โลก พยายามจุดกระแสเพื่อให้ผู้คนสนใจความเป็น ECO มากขึ้น จึงก่อเกิดเป็นแบรนด์รองเท้าของคนยุคใหม่ที่มีทั้งแฟชั่นและฟังก์ชั่นครบจบในคู่เดียว! ผู้ร่วมก่อตั้งของธุรกิจน้ำดี คือ “อภิกษณา” และ “อัครชัย” เตชะวีรภัทร สองพี่น้องที่เข้ามาสานต่อกิจการโรงงานรองเท้าของพ่อ ซึ่งอยู่มานานกว่า 50 ปี

     “คุณพ่อทำโรงงานมากว่า 50 ปีแล้ว ส่วนรุ่นของพวกเราเหมือนมาสานต่อสิ่งที่พ่อทำ โดยโรงงานของเราทำรองเท้าเป็นงานทำมือในระบบวัลคาไนซ์ (Vulcanization) หรือระบบที่จะใช้ยางดิบมาขึ้นรูปเป็นแผ่นยางแล้วนำมารีดให้กลายพื้นรองเท้า โดยกระบวนการทำต้องใช้มือรีดออกมาเรียกได้ว่าเป็นการประกอบด้วยมือและนำไปเอาเข้าเตาอบเพื่อให้ยางเซ็ตตัวจึงจะเอาออกมาใช้งานได้ ซึ่งระบบวัลคาไนซ์นั้นจะทำให้ยางมีความทนทานต่างจากการทำรองเท้าในแบบฉีดให้ขึ้นรูปทั่วไป”

  โรงงานของผู้เป็นพ่อ นอกจากจะมีแบรนด์เป็นของตัวเองแล้วยังมีการรับทำรองเท้าให้กับแบรนด์วัยรุ่นใน IG หรือแบรนด์รองเท้าแฟชั่นอีกด้วย ซึ่งทายาทมองว่า โรงงานแห่งนี้มีศักยภาพในการทำรองเท้าแฟชั่นเป็นอย่างมาก และเมื่อวันที่ต้องสานต่อจึงได้พัฒนานวัตกรรม การผลิตด้วยระบบวัลคาไนซ์ที่สามารถนำเศษยางมาผสมใหม่ แล้วมาบวกกับเศษผ้าทอที่เหลือจากการนำมาประกอบรองเท้า เพื่อขึ้นรูปให้กลายพื้นรองเท้าแบบใหม่ จนเกิดเป็นแบรนด์ GEMIO อย่างในปัจจุบัน

     “เรามองว่ายางของเรานั้นนอกจากจะนำมาผสมใหม่ได้อีกครั้งโดยที่คุณสมบัติยังคงเดิมแล้ว ยังสามารถทำสีหรือเพิ่มวัสดุอื่นๆ เข้าไปได้อีกด้วย อีกทั้งยังเห็นว่าในกระบวนการทำรองเท้าในขั้นตอนการตัดผ้าเพื่อขึ้นรูปรองเท้านั้นก่อให้เกิดเศษผ้าจำนวนมาก จึงเริ่มทดลองเอายางพารากับเศษผ้าที่เหลือจากการขึ้นรูปนี้มาผสมกัน จนกลายเป็นนวัตกรรมยางพาราผสมเส้นใยธรรมชาติที่มาพร้อมคุณสมบัติมากมาย จากการทดสอบพบว่า ยางเหล่านี้มีความทนทานมากขึ้น กันลื่นได้ดี ไม่เปียกน้ำ ซึ่งกระบวนการนี้จะสามารถยืดอายุขยะให้ช้าลงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ดังนั้นเราจึงนำมาเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์” ทายาทเล่า

 GEMIO  เลือกซื้อยางพารากับสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย และยังใช้ความชอบของทั้งสองคนที่หลงใหลในความสวยงามของผ้าทอเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นผ้าไทยที่มีเสน่ห์ในตัวเองอยู่แล้ว ผ้าทอมือ ผ้าย้อมสีธรรมชาติลวดลายต่างๆ โดยไม่ได้เจาะจงว่าต้องมาจากชุมชนไหน

     ส่วนการดีไซน์นั้นพยายามทำให้รองเท้าไม่ออกมาในรูปแบบไทยจ๋า เพราะหลายครั้งที่รองเท้ารักษ์โลกหรือรองเท้าเพื่อสุขภาพมักจะมีภาพลักษณ์ไม่ทันสมัย ดังนั้นจึงเลือกสร้างสรรค์รองเท้าให้สามารถนำมามิกซ์แอนด์แมทช์กับเสื้อผ้าได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางการแบบใส่สูท หรือแบบไม่เป็นทางการก็สามารถสวมใส่ได้

     อีกหนึ่งเป้าหมายของแบรนด์คือเมื่อลูกค้าใส่รองเท้า GEMIO แล้ว สีสันและรองเท้าจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ เพราะรูปแบบและสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร บวกกับแฟชั่นไทยร่วมสมัยที่รองเท้าบางรุ่นก็มีแค่คู่เดียวในโลก ในขณะเดียวกันทางแบรนด์ยังคำนึงถึงความสะดวกสบายของสวมใส่ทั้งของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดของการเป็นรองเท้า

     “ต้องบอกว่าเราทำ ECO มานานแล้ว แต่สมัยก่อน ECO ไม่ค่อยมีคนเข้าใจเยอะมากนัก แต่ในตอนนี้เราต้องการเป็นตัวอย่างที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจและตระหนักในเรื่องการดูแลรักษาธรรมชาติมากขึ้น ธุรกิจของเราอาจไม่ได้ออกไปช่วยเก็บขยะ แต่เราจะทำให้โรงงานไม่ต้องทิ้งเศษขยะออกไปเป็นภาระของโลก แถมโรงงานของเรายังถูกรับรองด้วย GI – Green Industry โรงงานสีเขียว และนวัตกรรมยางพาราผสมเศษผ้า หรือ ยางนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยังได้รับมาตรฐาน G หรือ G production จากกรมสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นี่คือ วิธีหนึ่งที่เราจะช่วยธรรมชาติด้วยการนำขยะกลับมาเป็นวัสดุใหม่ ซึ่งในตอนนี้เราก็มีแผนในการต่อยอด คือผลิตภัณฑ์ของเราจะไม่ได้มีแค่รองเท้าอย่างเดียว แต่จะมีกระเป๋าใส่เหรียญ กระเป๋าแว่นตา กระเป๋าในรูปแบบต่างๆ ที่ทำจากยางพวกนี้ ด้วยคุณสมบัติเรื่องความทนทานจึงทำให้เวลาตกจะไม่แตก แถมยังสามารถนำไปล้างแล้วเอามาใช้ใหม่ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเปื่อยยุ่ยอีกด้วย”

นอกจากนี้ GEMIO ยังมีแผนที่จะนำวัสดุเหลือทิ้งหรือขยะในรูปแบบอื่นๆ มาผสมรวมกับยางเพื่อสร้างเป็นวัสดุชิ้นใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหล่านั้น ที่ทำคัญคือการช่วยยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลงได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

     GEMIO เป็นอีกตัวอย่างของแบรนด์รักษ์โลก ที่ใช้จุดแข็งของตัวเองมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้ทั้งแฟชั่นและฟังก์ชั่นการใช้งาน อีกทั้งยังเลือกวางตัวเองให้เป็นมิตรกับโลก เพื่อร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดขยะล้นโลก เพื่อสร้างธุรกิจยั่งยืนเคียงคู่ผู้คนและโลกใบนี้

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

อ้างอิง

by SME Thailand. 31 พค. 2020

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur-5852-id.html